โดย อาจารย์ทิพวรรณ สิทธิรังสรรค์
จากพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเสด็จทอดพระเนตร โครงการศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนเกษตร วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2530 โดยให้ศูนย์ฯ แห่งนี้ดำเนินการแก้ไขสภาพดินเสื่อมโทรม และให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำแก่ราษฎรทั่วไป เนื่องจากบริเวณนี้มีสภาพแห้งแล้งดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งในปัจจุบันการเพาะปลูกของประเทศไทย ก็ประสบปัญหาหลายประการ ที่สำคัญประการแรกคือ ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ กล่าวคือพื้นที่การเกษตรของประเทศไทยประมาณ 80% เป็นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ มีเป็นกรดสูง และที่สำคัญเป็นดินที่ขาดจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดิน และต่อพืชซึ่งเรียกได้ว่าเป็นดินตาย สาเหตุก็มาจากการปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำกันหลายปี ไม่มีการปลูกพืชหมุนเวียนอีก ทั้งมีการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวเป็นส่วนใหญ่ สุดท้ายก็ทำให้เกิดสภาพดินกรด ขาดความอุดมสมบูรณ์เกษตรกรปลูกพืช แล้วให้ผลตอบแทนได้ไม่เต็มที่ประการที่สองเกษตรกรประสบปัญหาแมลงศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ รบกวนไม่ว่าจะเป็นสวนผัก สวนผลไม้ ไม้ดอก-ไม้ประดับ พืชไร่-นา ชนิดต่าง ๆ และหนทางที่เกษตรกรเลือกใช้แก้ปัญหา ส่วนใหญ่ก็คือสารเคมีฆ่าแมลงแต่จากการที่เกษตรกร ขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกใช้สารเคมี วิธีการใช้ที่เหมาะสม ช่วงเวลาในการใช้ เกษตรกรใช้สารเคมีหลายชนิดซ้ำซ้อนกัน และในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น มีผลทำให้สารพิษตกค้างในผลผลิต มีต้นทุนการผลิตสูง เป็นอันตรายต่อเกษตรกรผู้ผลิตเอง และผู้บริโภคเองก็ได้รับอันตรายเช่นกันมีผู้บริโภคจำนวนมาก ที่ต้องหวาดระแวงกับพิษภัยของสารพิษตกค้างในอาหาร และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในภูมิภาคนั้น อีกทั้งในปัจจุบันกระแสความต้องการผลผลิต ทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ กำลังมีความต้องการและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ และล่าสุดคือ นโยบายการควบคุมผักที่มีสารพิษตกค้างเกินกำหนด มิให้เข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยมากขึ้น และเกษตรกรเองก็ต้องปรับปรุงการเพาะปลูกให้ปลอดภัย ตามความต้องการของตลาดด้วย ไม่ว่าเกษตรกรคนไหน ๆ ก็อยากปลอดภัยจากสารเคมี ไม่มีใครอยากใช้สารเคมีเพราะอันตรายทั้งตนเองและผู้บริโภค แต่ถ้าไม่ใช้แล้วจะใช้อะไรทดแทน ปัญหาในการเพาะปลูกที่เกษตรกรพบมี 2 ประการใหญ่คือ เรื่อง ความอุดมสมบูรณ์ของดินถ้าไม่ใช้ปุ๋ยเคมีแล้วจะใช้อะไรทดแทน เพื่อที่จะปลูกพืชให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี และอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ถ้าไม่ใช้สารเคมีแล้วจะใช้อะไรทดแทนแนวทางที่จะทำให้ดินเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็น ดินที่มีชีวิต สามารถเพาะปลูกพืชให้ได้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพดีไม่ว่าจะเป็นพืชไร่-นา ผัก ผลไม้ ดอกไม้ก็ตาม และจะเป็นแนวทางที่จะสามารถผลิตผลผลิต ที่ปลอดภัยจากสารพิษทางการเกษตร ทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภคช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม สามารถทำเป็นอาชีพได้อย่างยั่งยืน ซึ่งแนวทางนั้นก็คือ แนวทาง เกษตรธรรมชาติ นั่นเองความหมายของเกษตรธรรมชาติ
เกษตรธรรมชาติ หมายถึง การทำการเกษตรที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด แต่จะให้ความสำคัญของดินเป็นอันดับแรก ด้วยการปรับปรุงดินให้มีพลังในการเพาะปลูก เหมือนกับดินในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ โดยการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สูงสุด เป็นวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อม ไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค สามารถให้ผลผลิตที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพ เป็นระบบเกษตรที่มีความยั่งยืน ถาวร เป็นอาชีพที่มั่นคงหลักเกษตรธรรมชาติ
ถ้าเราศึกษาสภาพป่าเราจะเห็นว่าในป่ามีต้นไม้นานาชนิดขึ้นปะปนกันอยู่เต็มไปหมด ผิวดินถูกปกคลุมไปด้วยใบไม้ที่หล่นทับถมกัน สัตว์ป่าถ่ายมูลไว้ที่ผิวหน้าดินคลุกเคล้ากับใบไม้และซากพืช มูลสัตว์รวมทั้งซากสัตว์ โดยมีสัตว์เล็ก ๆ เช่น ไส้เดือน กิ้งกือ จิ้งหรีด ฯลฯ กัดแทะเป็นชิ้นเล็ก ๆ และมีจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินช่วยย่อยสลายจนกลายเป็นฮิวมัส ซึ่งเป็นแหล่งธาตุอาหารพืชและใช้ในการเจริญเติบโตของต้นไม้ในป่านั่นเอง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเอาปุ๋ยเคมีไปใส่ในป่า ซึ่งเกษตรกรสามารถเลียนแบบป่าได้โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ และปุ๋ยพืชสด ใช้ปุ๋ยชีวภาพ เช่น ไรโซเบียม ไมโครไรซ่า เป็นต้น ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ใบไม้และเศษพืชที่ปกคลุมผิวดินก็เป็นการคลุมผิวหน้าดินไว้ ป้องกันการสูญเสียความชื้นภายในดินทำให้หน้าดินอ่อนนุ่มสะดวกต่อการไชชอนของรากพืช ถ้าศึกษาต่อไปจะพบว่า แม้ไม่มีใครนำเอายาฆ่าแมลงไปฉีดพ่นให้ต้นไม้ในป่า แต่ต้นไม้ในป่าก็เจริญเติบโตแข็งแรงต้านทานโรคและแมลงได้ตามธรรมชาติ ถึงแม้จะมีโรคและแมลงรบกวนบ้างก็ไม่ถึงขั้นเสียหายและยังสามารถให้ผลผลิตได้ตามปกติ นั่นก็คือ ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์จะสามารถต้านทานโรคและแมลงได้ นอกจากนี้พืชในป่าก็มิได้เป็นพืชชนิดเดียวกันทั้งหมด แต่เป็นพืชหลากหลายชนิดทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีแหล่งอาหารที่หลากหลายของแมลง และแมลงบางชนิดก็เป็นแมลงศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืช ดังนั้นจึงเกิดสมดุลตามธรรมชาติโอกาสที่แมลงศัตรูพืชจะระบาดจนเกิดความเสียหายจึงมีน้อย ดังนั้นเกษตรกรจึงสามารถจำลองสภาพป่าไว้ในไร่-นาโดยการปลูกพืชให้หลากหลายชนิด